no need to make sense.

ครอบครัว ” พงษ์พานิช ” กับการวิ่งมาราธอนที่เก็บระยะวิ่งรวมกัน ได้เท่ากับระยะทางของ ” BKK – LONDON “

ถ้าคุณเป็นนักวิ่งมาราธอน คุณจะรู้ว่าชีวิตนี้ เรามักจะเจอนักวิ่งอยู่ไม่กี่แบบ

แบบที่ 1 คือ  ชีวิตนี้ขอแค่ได้วิ่งมาราธอนสักครั้งนึงก็พอแล้ว

แบบที่ 2 คือ อยากได้นิว PB  ( personal best )

แบบที่ 3 คือ อยากวิ่งมาราธอนเก็บสนามเมเจอร์ในฝัน 6 รายการ (Berlin, Tokyo, New York, London, Boston, Chicago)

แต่สำหรับครอบครัว  พงษ์พานิช” ที่เกดรู้จักนั้น… ไม่ใช่ทั้ง 3 แบบ

แม้จะรู้จักกันมาหลายปี พี่เปิ้ลสลิลรัตน์ พงษ์พานิช  นอกเหนือจากการเป็น กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี เมจิ จำกัด แล้ว พี่เปิ้ลยังชอบการวิ่ง โดยเฉพาะมาราธอน ( ถ้ามีโอกาส ) แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การวิ่งมาราธอนของพี่เปิ้ลอย่างเดียว หากแต่ว่า คุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย และน้องสาว ของพี่เปิ้ลเอง ก็วิ่งมาราธอนกันหมดทั้งบ้าน ซึ่งความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่เวลาในการวิ่ง แต่อยู่ที่จำนวนการวิ่งมาราธอนทั้งหมดของครอบครัวนี้ต่างหาก…

 

คุณคิดว่าเท่าไหร่?

25 มาราธอน เหรอ ?

ไม่ใช่ !

50 มาราธอน เหรอ ?

ผิด !

90 มาราธอน เหรอ ?

มากกว่านั้น !

150  มาราธอน เหรอ ?

ก็ยังไม่ใช่!

เห้ย! งั้นบอกมาเลยเถอะ!

.

.

.

.

“234” คือจำนวนการวิ่งมาราธอนของครอบครัวนี้รวมกัน !

ถ้าคิดเป็นระยะรวมทั้งหมดก็คือ 9,873 กิโลเมตร เทียบเท่ากับระยะบินจาก กรุงเทพ- ลอนดอน พอดี นี่ยังไม่ได้นับระยะ half และ mini อีกหลายร้อยรายการ ซึ่งถ้ารวมระยะวิ่งทั้งหมดของทั้ง 5 คน รวมตอนซ้อมด้วย สงสัยคงวิ่งรอบโลกได้หลายรอบเลย

ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วย…

คุณแม่ วิ่งไป 150 มาราธอน

คุณพ่อ วิ่งไป 70 มาราธอน

เฮียจิ (พี่ชายคนโต) วิ่งไป 2 มาราธอน

พี่เปิ้ล (ลูกสาวคนกลางวิ่งไป 5 มาราธอน

นัท (น้องสาวคนสุดท้อง) วิ่งไป 7 มาราธอน

 

เดี๋ยวค่ะ ! 

ยังไม่รวมลูกเขยอย่าง โปรแจ๊ค (สามีของพี่เปิ้ล ผู้สอนกอล์ฟให้เกด)  วิ่งไป 4 มาราธอน 

และ อีส (แฟนของนัท)  วิ่งไป 20… อย่างต่ำ

 

รวมหมดนี่ก็ 258 รายการ!!

 

เกดไม่ค่อยชอบวิ่ง…ชอบคุยกับคนวิ่งมากกว่า วันนี้เกดเลยชวนคนใกล้ตัวที่รักการวิ่งมาราธอน อย่างครอบครัว “พงษ์พานิช” มาย้อนเวลา เล่าถึงเรื่องราวสนุก ๆ จากการวิ่งมาราธอน 234 รายการของคนในบ้านนี้ (รวมกัน) และเสน่ห์ของการวิ่งมาราธอนที่ให้อะไรมากกว่าแค่การ  “ได้วิ่ง”  ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการพูดคุยเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทุกคนยังเล่าถึงมาราธอนแรก ได้อย่างสนุกสนาน และยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มทุกครั้งที่พูดถึงมัน แม้จะผ่านไปนานแค่ไหนแล้วก็ตาม

 

 

เพราะมาราธอนแรกในชีวิต มักมีเรื่องเล่าเสมอ …

คุณแม่- พนิดา พงษ์พานิช ผู้วิ่งมาแล้ว 150 มาราธอน เล่าให้ฟังถึงมาราธอนแรกเมื่อ 30 ปีก่อนที่งาน “จอมบึงมาราธอน”

คุณแม่ : สมัยก่อนมีไม่กี่สนาม ที่มีให้วิ่งระยะมาราธอน สมัยนั้นจอมบึงมาราธอนเป็นรายการที่ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าสมัยนี้นะ คนจัดงานต้องมาตามให้ไปวิ่งถึงบ้าน ถ้าเราไม่ไป เค้าก็น้อยใจ (หัวเราะ) ตอนนั้นแม่ตื่นเต้นมาก ยิ่งตอนซ้อมยิ่งตื่นเต้น เพื่อน ๆ ในแกงค์วิ่งที่ไม่ได้ลงมาราธอนเค้าก็มาเชียร์เราตอนซ้อมตลอด เค้าเป็นห่วงกลัวเราเบื่อ บางคนผัดข้าวมาให้กิน หุงข้าวต้มมาให้บ้าง ฝนตกน้ำท่วมจ๋อมแจ๋ม ก็ยังพากันมาเชียร์ แล้วรู้มั้ยสมัยนั้นแม่ซ้อมวิ่งยาวคือ 42 กิโลเลยนะ ( หัวเราะ )

คนอื่นเค้ารอวิ่ง 42 กิโล แรกในชีวิตกันวันแข่ง แต่ของคุณแม่คือ วิ่ง Full ตอนซ้อมเลย

คุณแม่ :  ใช่ ( หัวเราะ ) กลับมาบ้านนี่รีบเอาขาแช่น้ำแข็งเลย

 

 ทุกวันนี้ คุณแม่ – พนิดา พงษ์พานิช ยังคงมาซ้อมวิ่งที่ สนามจันทร์  จังหวัดนครปฐม อยู่เป็นประจำ

 

มาราธอนแรกของบางคน อาจจะถูกชักชวนโดยคนอื่น แต่ของคุณพ่อประวิทย์ พงษ์พานิช เกิดจากความขี้เกียจรอคุณแม่วิ่ง full

ป๊า : ใช่…ป๊าลงแต่ระยะ 10 กิโล มาตลอด ส่วนแม่เค้าลงมาราธอนตลอด เดือนนึงแม่เค้าวิ่งมาราธอน 4 งาน จนป๊าเริ่มขี้เกียจรอ เลยตัดสินใจลงมาราธอนครั้งแรกด้วยกันที่งาน ” สงขลามาราธอน ”  แต่ตอนนั้นป๊าวิ่งไม่จบนะ ( หัวเราะ )  มันเจ็บจนไปต่อไม่ไหว หลังจากนั้นก็พัก แล้วกลับไปล้างแค้นใหม่ในปีถัดไป จนในที่สุดก็วิ่งจบ ตอนนั้นทำเวลาไป 4:15 ชั่วโมง ตอนที่วิ่งเข้าเส้นชัยครั้งนั้น มันมีความสุขมาก ยังจำได้ไม่ลืม

 

คุณพ่อ – ประวิทย์ พงษ์พานิช ในวัย 70 กับสถิติวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุด คือ 4:19 ชั่วโมง และ half คือ 1:55 ชั่วโมง

 

จำนวน bib  กับ เหรียญที่กองรวมกันนั้น เป็นเพียงแค่ 2 % ของรายการวิ่งทั้งหมดที่ป๊ากับม้าไปวิ่งมา

 

หลังจากที่ปล่อยให้คุณพ่อ และคุณแม่วิ่งมาราธอนอยู่เป็น สิบ รายการ อะไรทำให้ เฮียจิจิรพันธ์ พงษ์พานิช พี่ชายคนโตของบ้าน ตัดสินใจลงมาราธอนแรกในชีวิต

เฮียจิ :   ครั้งแรกคือ Tokyo marathon 2007 ! ตอนนั้นผมไปทำงานที่ญี่ปุ่น และเห็นว่ามันเป็นปีแรกในการจัดแข่งวิ่งของ Tokyo marathon ก็เลยสมัครเลย อารมณ์แบบเอาซะหน่อยวะ ตอนนั้นตารางซ้อมคือเป๊ะสุด ๆ สมัยนั้นเอาโปรแกรมซ้อมมาจากเว็บไซท์ runner’s world มันจะบอกหมดว่าต้องซ้อมกี่วัน long run กี่วัน เราก็พยายามซ้อมตามตารางเค้าเลย แต่ตอนที่ยากและทรมานที่สุด คือระหว่างซ้อมดันมีอาการบาดเจ็บ แต่เราก็ฝืน พอถึงวันแข่ง วิ่งไปได้เกือบ 30 กิโล มันก็เจ็บขึ้นมาอีก จำได้เลยตอนนั้นทั้งเจ็บ ทั้งหนาว มันทรมานมาก 8 องศา คือไม่ไหวจริง ๆ อย่างน้อยถ้าอากาศดี ก็อาจจะฝืนเดินจนจบได้นะ แต่ผมไม่ไหว ทั้งหนาว ทั้งเปียก จนต้อง disqualified ตัวเอง ถึงขนาดต้องไปหาที่หลบหนาวในสถานีรถไฟใต้ดินที่ ginza  ตัวมันสั่นไปหมด แถมต้องหากระดาษหนังสือพิมพ์มาซับน้ำออกจากตัว แล้วค่อยนั่งรถไฟกลับบ้าน (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็พยายามซ้อมใหม่ จนสามารถจบ Tokyo marathon ได้ในปีถัดมา ที่เวลา 5 ชั่วโมงกว่า ตอนเข้าเส้นชัยคือตาลอยเลย…

 

เฮียจิ กับมาราธอนครั้งที่ 2 ที่ Yokohama marathon 2018

 

เฮียจิ กับ ป๊อบ (แฟนเฮีย) ซึ่งจบ half มาแล้ว และกำลังจะเป็นว่าที่ marathon finisher แต่รายการที่สมัครไว้ที่ Paris ต้องเลื่อนไปก่อนเพราะป๊าผ่าตัด

 

มาถึงลูกสาวคนโตอย่าง พี่เปิ้ล สลิลรัตน์ พงษ์พานิช ซึ่งเป็นคนสุดท้ายในบ้านที่วิ่งมารธอน

พี่เปิ้ล :  คือมันเกิดจากตอนที่พี่ทำงานที่เมจินั่นแหละ ช่วงนั้นกีฬาวิ่งมันกลับมาบูม แล้วเราอยากทำแคมป์ให้คนไปวิ่งมาราธอน แต่ถ้าเราไม่วิ่งมาราธอน แล้วเราจะเป็นตัวอย่างให้คนอยากมาแคมป์นี้ได้ยังไง ก็เลยไปวิ่งมาราธอนที่งาน จอมบึงมาราธอน” ตอนนั้นซ้อมเอง เปิดตำราวิ่งเอง ไม่ได้เข้าร่วมแคมป์ของเมจิด้วยนะ เพราะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ใหญ่ ไม่อยากให้ทีมงานในแคมป์ต้องคอยมาดูแลเรา เดี๋ยวเค้าจะเกร็ง ก็เลยซ้อมเอง ซ้อมจนหลอน ๆ อะ พอถึงวันแข่ง ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ” ต้องจบ ” พอวิ่งไปถึงกิโลที่ 35 มันเริ่มรู้สึกทรมาน อยากจะถอดใจแล้ว แถมอากาศก็ร้อนมาก ๆ แต่โชคดีเจอ อีส ( แฟนของนัท ) เค้าพูดกับเราว่า “วิ่งต่อไป… เดี๋ยววิ่งไปด้วยกัน” ความรู้สึกตอนนั้นคือ เหมือนเค้าเป็น angel เลยอะ แล้วสุดท้ายเราก็วิ่งต่อจนจบ  ดีใจมาก ๆ

 

พี่เปิ้ลที่ Yokohama marathon 2018

 

พี่เปิ้ลกับบทบาทผู้บริหาร

 

ส่วนมาราธอนแรกของ นัท- ณัฐกานต์ พงษ์พานิช คือ กรุงเทพมาราธอน ปี 2015  ( ปีที่น่าจดจำโดยเฉพาะคนวิ่งระยะ half )

นัท : แรกเริ่มเลย เพื่อนชวนวิ่ง 21 กิโลนะ เพราะเพื่อนเห็นว่าเราวิ่งอยู่แล้ว แต่ในใจตอนนั้นก็คิดว่า เอ… เราก็น่าจะวิ่ง full ได้นะ ก็เลยซ้อมวิ่ง full เลย พอถึงวันแข่ง โอ้โห ! มาราธอนแห่งชีวิตจริง ๆ คือนัทซ้อมถึงนะ 35 กิโลเนี่ย แต่มันเจ็บมาก ๆ คือเจ็บตั้งแต่ซ้อมแล้ว วันนั้นจำได้เลย ตอนที่นัทวิ่งจนถึงกิโลที่ 20 นัทเจอพี่เปิ้ลที่จุดกลับตัวพอดี วันนั้นพี่เปิ้ลไปวิ่ง half นัทรู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่เจอพี่เปิ้ลตอนนั้น เพราะเหมือนกับว่า เรามีพี่เปิ้ลคอยวิ่งไปเป็นเพื่อน และอีกหนึ่งความโชคดีคืออะไรรู้ปะคะ ? คือปีนั้นอะ มันเป็นปีที่เค้าวัดระยะ half marathon ผิด! (หัวเราะ) กลายเป็นว่า route วิ่งของ half มันเกือบจะเท่า route เดียวกับ full marathon คือจากที่พี่เปิ้ลต้องวิ่ง 21 กิโล ใช่มั้ยคะ…กลายเป็นว่า พี่เปิ้ลต้องวิ่งกับนัทต่อไปอีกประมาณ 8 กิโล ! (หัวเราะ) ตอนนั้นถ้าไม่ได้เจอพี่เปิ้ลที่จุดกลับตัว นัทคงไม่จบมาราธอนแน่ ๆ  แต่สุดท้ายก็วิ่งเข้าเส้นชัยที่เวลา 5:40 ชั่วโมง โมเมนต์นั้นมันทำให้นัทรู้สึกได้ทันทีว่า “ไม่มีสิ่งไหนหรืออะไรที่คนเราทำไม่ได้ ถ้าเรามีความตั้งใจจริง ๆ 

 

นัท และ  อีส – Iskandar Shahril กับมาราธอนที่ฝรั่งเศส

 

 ปัจจุบัน “อีส” เป็นนักเขียนให้ RUN magazine ที่ Singapore และยังเป็นคนก่อตั้งกรุ๊ป  FB: Trail Runners Singapore อีกด้วย

 

ส่วนพี่แจ๊ค ลูกเขยของบ้านนี้ ก็สามารถจบมาราธอนแรกด้วยระยะเวลาซ้อมเพียงแค่ 1 เดือนครึ่ง

พี่แจ๊ค :  ครั้งแรกคือเพื่อนชวนวิ่งงาน singapore marathon  ตอนนั้นก็ลังเล เกือบจะไม่วิ่งแล้ว จนในที่สุด พี่เปิ้ลดันสมัครวิ่งรายการนี้ได้  คือสมัครได้กันหมดเลย มีทั้งป๊า ม้า เปิ้ล แล้วก็แจ๊ค ก็เลยเอาวะ วิ่งก็ได้ จำได้เลยว่าทรมานมาก ทุกครั้งที่ตื่นตี 4 มาซ้อม ก็จะนึกถึงเมียตัวเอง ว่าทำไปได้ไงวะ (หัวเราะ) ช่วงนั้นพอสอนกอล์ฟเสร็จสองทุ่มปุ๊บ ต้องรีบกลับบ้านทันที เพราะต้องรีบกลับไปนอน เพื่อที่จะได้ตื่นเช้าไปซ้อมวิ่งที่สวนลุม และวันที่หลอนที่สุด คือวันที่ต้องซ้อมวิ่ง 35 กิโลเมตร ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บนะ แต่การวิ่งคนเดียว 35 กิโล สำหรับแจ๊คมันทรมานมาก ๆ พอจบมาราธอนแรกได้ แจ็คร้องไห้เลย (หัวเราะ)

 

เสื้อ marathon finisher ตัวแรกของพี่แจ๊คที่ Singapore marathon 2017

 

พี่แจ๊คหลังจบมาราธอนที่ Yokohama ปี 2018

 

แล้วมาราธอนแรกที่ได้วิ่งพร้อมกันหมดทั้งบ้านคือครั้งไหน

นัท :  จริง ๆ ลูก ๆ แต่ละคนก็เคยพาป๊า กับ ม้า ไปวิ่งต่างประเทศ บ้างนะ มีที่ Tokyo Hongkong Singapore Osaka แต่ไม่ได้วิ่งพร้อมกันครบทั้งบ้าน มีครั้งเดียวที่วิ่งพร้อมกันทั้งบ้านคือที่  Yokohama Marathon 2018 ลงพร้อมกัน 7 คนเลย มีพี่แจ๊ค และอีสด้วย

 

มาราธอนแรกที่ได้วิ่งพร้อมกันทั้งบ้านที่ Yokohama marathon 2018

 

มาราธอนให้อะไรแก่เราบ้าง

พี่เปิ้ล :  หลังจากที่วิ่งมาราธอนจบ มันทำให้เราเข้าใจการวิ่งมาราธอนมากขึ้น จนเราสามารถ motivate น้องที่ออฟฟิซ จากคนที่วิ่งได้แค่ 1-2 กิโล  จนวันนึงเค้าวิ่งจบมาราธอนได้ เหมือนเราไปป้ายยาเค้านะ แต่มันมีความสุข ที่ได้เห็นว่าเค้ามีพัฒนาการและสามารถเอาชนะตัวเองได้ 

ป๊า :  มันมีความสุขมากตอนวิ่งเข้าเส้นชัย ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้น 

เฮีย : ตอนที่วิ่งแล้วเจ็บจนเอ็นฉีก มาราธอนถือเป็นจุดเริ่มต้นให้เราศึกษายาทุกตัวที่หมอให้เรากิน (หัวเราะ) ด้วยความที่เป็นคนชอบศึกษา ชอบอ่าน หมกมุ่นกับมันมาก จนเราได้รู้ว่า ยาแต่ละตัวมันช่วยอะไร วิธีการทำงานเป็นยังไง สรรพคุณคืออะไร ผลข้างเคียงคืออะไร อย่างล่าสุดตอนที่ป๊าผ่าตัดหลังเมื่อสองปีที่แล้ว ผมก็นั่งอ่านสรรพคุณยาที่หมอให้ป๊ากิน ผมนั่งอ่าน literature ของหมอ จนหมอถามว่า “ คุณทำงานสายการแพทย์หรือเปล่า ? ”  (หัวเราะ )

นัท :  หลังจากที่นัทวิ่งจบมาราธอน ทำให้นัทเข้าใจเลยว่า กีฬาทุกอย่างต้องมีคนสอน และอีกอย่างคือเราไม่ควรออกกำลังกายชนิดเดียวไปตลอด อย่างนัทมาเริ่ม weight training ก็เพราะว่า นัทจบมาราธอนครั้งแรกแล้วเจ็บเนี่ยแหละ พอเริ่ม weight training ควบคู่กับการซ้อมวิ่งไปด้วย เลยทำให้การจบมาราธอนครั้งถัดมาไม่เจ็บอีกเลย

 

ยกเวทกันทั้งบ้าน เพราะมาราธอน

 

หลังจากป๊าผ่าตัดหลังมาเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วตอนนี้ได้กลับมาวิ่งหรือยัง 

ป๊า : วิ่งแล้ว ( ยิ้ม ) half marathon ที่บางแสน เดือนธันวา ปีที่แล้วนี่เอง 

 

แล้วหมออณุญาตให้ป๊าวิ่งแล้วเหรอ

ป๊า :  หมอไม่รู้ หมอบอกว่า ถ้าจะวิ่งให้ลง fun run ก็พอ (หัวเราะ) 

พี่เปิ้ล :  ขนาดผ่าตัด ยังเข้าก่อนเราเลย (หัวเราะ)

 

ถ้าใครจะมาวิ่งที่  “สนามจันทร์ นครปฐม” ต้องแต่งกายให้ถูกระเบียบเหมือนครอบครัวนี้ เนื่องจากเป็นเขตพระราชฐาน จึงห้ามใส่เสื้อแขนกุด และกางเกงขาสั้นเกินไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

 

คิดว่าเสน่ห์ของการวิ่งอยู่ที่ไหน

ป๊า :  สำหรับป๊า คือ กีฬานี้มันอวดกันไม่ได้ ไม่ว่าเราจะใส่รองเท้าแพงแค่ไหน หรือจะอุปกรณ์แพงขนาดไหน สุดท้าย เค้าก็วัดกันที่ผลงาน ใส่รองเท้าแพง ก็ไม่ได้ทำให้เราวิ่งเก่งขึ้น ถ้าเราไม่ซ้อม

เฮียจิ :  สำหรับผม การวิ่งมันทำให้เรามีสมาธิ มันบังคับให้เราไม่ฟุ้งซ่าน บางครั้งปัญหาเรื่องงานที่ผมคิดไม่ออก แต่ทุกครั้งที่ได้ไปวิ่ง กลับกลายเป็นเราคิด solution เรื่องงานออกเฉยเลย

พี่เปิ้ล : เหมือนเฮียนะ เวลาที่เราวิ่ง มันคือเวลาที่เราได้โฟกัส และคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง อีกอย่างมันเป็นเวลาเดียวที่ทำให้เราได้พักสมองจากเรื่องงาน หรือเรื่องอื่น ๆ แล้วได้อยู่กับตัวเองจริง ๆ 

คุณแม่ : ได้เจอเพื่อนทั่วประเทศ ไปวิ่งจังหวัดไหนก็ได้เจอเพื่อนที่วิ่งด้วยกัน ( ยิ้ม )

นัท: สำหรับนัท หลังจากที่ได้เริ่มวิ่งมาราธอนในประเทศสัก 2-3 รายการ ก็มีโอกาสได้ไปลองวิ่งที่ต่างประเทศ แล้วรู้สึกว่ามันก็ดีนะ นัทเลยตั้งเป้าว่า จากนี้ไปแต่ละปี ก็อยากจะไปลงมาราธอนที่ต่างประเทศปีละครั้งจะได้ถือโอกาสไปเที่ยวด้วยเลย คือการที่เราได้ไปวิ่ง และได้ไปเที่ยวด้วย สำหรับนัทมันเป็น motivation มันคือเสน่ห์อย่างนึง

 

ตั้งแต่วิ่งมา เคยเจอเหตุการณ์อะไรขำๆ ที่จำได้ไม่ลืมมั้ย

พี่เปิ้ล :  มี ! ตลกมาก…วันนั้นซ้อมวิ่งมาราธอนกับแจ๊ค แล้วได้ยินคนพูดว่า “วันนี้แม่งวิ่งไม่ดีเลย pace 3:30 จะจบมาราธอนได้มั้ยวะ ?”

พี่แจ๊ค :  แจ๊คเลยหันไปพูดกับเปิ้ลว่า “อืม…แล้วถ้าอย่างมึงวิ่งไม่จบ อย่างกูไม่ต้องตายไปเลยเหรอ” (หัวเราะ)

เฮียจิ :  งาน “ขอนแก่นมาราธอน” ครั้งนั้นไปวิ่ง half กับป๊า และด้วยความที่ป๊าคือคนที่ลูก ๆ ทุกคนอยากจะเอาชนะให้ได้ moment นั้นยังจำได้เลย คือมันใกล้จะถึงเส้นชัยแล้ว แต่ป๊าแวะเข้าห้องน้ำ เราก็คิดในใจนะว่า ชนะแล้วโว้ย เพราะป๊าเข้าห้องน้ำ แต่แป๊บนึงเราได้ยินเสียงคนหายใจแรง ๆ ตามมาข้างหลัง เราก็หันไปดู กลายเป็นป๊า “อ่าว ! ป๊า ทำไมเร็วจัง !”  จนสุดท้ายก็เข้าเส้นชัยพร้อมกัน (หัวเราะ)

ป๊า :  นี่ขนาดแวะ…อึ  ด้วยนะ (ยิ้ม)

เฮียจิ :   แต่ตอนนี้ชนะได้แล้วนะ เพราะป๊าผ่าหลังมา เลยชนะป๊าได้ (หัวเราะ)

 

เวลามาราธอนในฝัน

เฮียจิ :  sub 4  แบบคลานเข้าก็ได้ !

พี่เปิ้ล :   ครั้งนึงในชีวิต ขอแค่วิ่งชนะป๊าให้ได้ในรายการเดียวกัน

 

 

จอมบึงมาราธอน ของป๊า กับ ม้า

 

ถ้วยรางวัลของทั้ง ป๊า และ ม้า ยังมีอีกเยอะมาก แต่ไม่มีที่จะวางแล้ว

 

 

นัท-ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นและหมูตุ๋น เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังของม้าอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ถ้าใครอยากเจอป๊ากับม้า ก็แวะมากินก๋วยเตี๋ยว และชมถ้วยรางวัลต่าง ๆ ได้

 

มีอะไรอยากจะบอกคนที่ลังเลอยู่ว่าจะลงมาราธอนดีมั้ย

นัท :  มันต้องถามตัวเองก่อนว่าอยากวิ่งมั้ย เพราะมาราธอนเนี่ย ครึ่งนึงมันอยู่ที่ใจเลย อีกอย่างนึงที่สำคัญไม่แพ้เรื่องใจคือ การวิ่งมาราธอนต้องแพลนการกินให้ดีด้วย ต้องแพลนว่า เราจะกินตอนกิโลที่เท่าไหร่ถึงจะมีพลังงานพอให้เราวิ่งไปจนจบได้

เฮีย :  มาราธอนมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน นอกจากว่าคุณจะเป็นคนที่อดทนทำอะไร ซ้ำ ๆ ได้นาน ๆ เอาเป็นว่า ถ้าอยากเทสต์ว่าตัวเองเป็นคนมีวินัยขนาดไหน ก็ลองวิ่งมาราธอนดูครับ

ป๊า :  มาราธอนมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจกลัว ก็วิ่งไม่ได้

พี่เปิ้ล :  ถ้าอยากรู้จักตัวเองมากขึ้น ลองมาวิ่งมาราธอนดู

 

 

ลูก ทั้งสามคนมีอะไรอยากจะบอกทั้ง ป๊า และ ม้า บ้างมั้ย

นัท :  เบา ๆ หน่อย ( หัวเราะ ) อยากให้เค้าวิ่งให้สนุก วิ่งเพื่อสุขภาพก็พอแล้ว

พี่เปิ้ล : อยากให้สลับมา weight training เพิ่มกล้ามเนื้อบ้าง

 

ถ้าป๊าเค้าแอบไปลงสมัครวิ่ง มาราธอน ปีหน้าไว้แล้วทำไง

พี่เปิ้ล :  ลงด้วย !!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!! 

 

เอ้า ! เมื่อกี้พี่เปิ้ลยังบอกให้ป๊ายกเวทอยู่เลย

ทุกคนหัวเราะ…

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่น่ารัก ของครอบครัว “พงษ์พานิช” ครอบครัวที่เค้าชวนกันไปวิ่งมาราธอน เหมือนที่พวกเราชวนกันไปกินข้าว สุดท้ายนี้ เกดไม่ได้มีรายการวิ่งมาราธอนใด ๆ มา tie in นะคะ แต่อยากปิดท้ายคอลัมน์ and friends วันนี้ ด้วยประโยคสุด cool ของเฮียจิ ที่บอกกับเราว่า…

 

“ถ้าคุณใช้ชีวิตยังไงตอนอายุ 40… ชีวิตที่เหลือของคุณก็จะเป็นแบบนั้น คือถ้าเราอายุ 40 แล้วยังไม่รักสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย ไม่ดูแลตัวเอง ชีวิตที่เหลือของคุณก็จะเป็นแบบนั้น”

 

 

 

no need to make sense 

เขียน และ เรียบเรียง โดย 

ลูกเกด จิรดา โยฮารา

ขอขอบคุณ สมาชิกครอบครัว “พงษ์พานิช” ทุกคน ที่สละเวลามาให้เกดสัมภาษณ์อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะลูก ๆ ทุกคนที่ต้องเดินทางมาถึงจังหวัดนครปฐม มา ณ ที่นี้

Comments

0

YOU MIGHT ALSO LIKE

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

YOHARA JIRADA

YOHARA JIRADA

Because my love of doing something or someone doesn't always need to make sense..